การลอกลายพระบฎโบราณเพื่อสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 21 ธันวาคม 2563

ประเภทงานวิจัย จำนวนผู้เข้าชม 7 คน 

การลอกลายพระบฎโบราณเพื่อสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย (The Tracing of Ancient Phra Bot Closts Painting for Creating Contemporary Art)   โดย ผศ.ดร.เยื้อง ปั้นเหน่งเพ็ชร์     การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ 1) เพื่อศึกษาคติความเชื่อและความเป็นมาของพระบฏ รูปแบบทางศิลปะ และเทคนิคทางจิตรกรรม 2) เพื่อวิเคราะห์คุณค่าทางสุนทรียะเชิงปรัชญาของภาพพระบฏที่มีต่อสังคมและวัฒนธรรม และ 3) เพื่อลอกลายรูปแบบพระบฎโบราณในการนำมาสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ในพื้นที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ผลของการศึกษา พบว่า คติความเชื่อพระบฏเป็นผลมาจากความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนในการสร้างรูปเคารพแทนองค์พระพุทธเจ้า มีวัตถุประสงค์ในการสร้างสรรค์เพื่อเป็นพุทธานุสติและเพื่อการกราบไหว้บูชา พระบฏถูกสร้างสรรค์โดยใช้ผ้าเป็นวัสดุในภาพวาดจิตรกรรม  มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ตั้งแต่สมัยหลังพุทธกาล เมื่อปรากฏมีการสร้างเคารพองค์ศาสดา เป็นศิลปกรรมที่แพร่หลายอยู่ในหลายวัฒนธรรม อาทิ อินเดีย จีน ธิเบต ญี่ปุ่น เกาหลี และไทย ส่วนพระบฏในล้านนา มีหลักฐานเก่าแก่ที่สุด คือ ราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 คือ พระบฏในกรุพระเจดีย์วัดดอกเงิน และวัดเจดีย์สูง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่  เป็นรูปพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีรูปแบบทางศิลปะแบบล้านนา เทคนิคทางจิตรกรรมการเขียนภาพแบบพหุรงค์ รวมทั้งมีการปิดทองเฉพาะที่ภาพพระพุทธองค์ คุณค่าทางสุนทรียะเชิงปรัชญาที่มีต่อสังคมและวัฒนธรรมของภาพพระบฏ คือ การเป็นวัตถุธรรมเครื่องสักการะทางศาสนาที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของพุทธศาสนิกชน เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และเป็นงานจิตรกรรมที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาด้านศิลปกรรมของกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ ในการสร้างสรรค์ศิลปกรรมบนผืนผ้า  ในการวิจัยครั้งนี้ได้ทำการลอกลายและสร้างสรรค์พระบฏร่วมสมัย โดยพระนิสิตสาขาพุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ จำนวน 22 ภาพ เพื่อนำไปติดตั้งภายในพิพิธภัณฑ์ศิลปะชุมชน วัดท่าข้าม อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นงานจิตรกรรมแขวนฝาผนัง  เน้นให้มีบรรยากาศและอารมณ์ทางสุนทรียภาพ และนำไปใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

ข่าวงานวิจัย