การแกะลายคำเพื่อสร้างสรรค์การเรียนรู้ศิลปศึกษา

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 21 ธันวาคม 2563

ประเภทงานวิจัย จำนวนผู้เข้าชม 7 คน 

การแกะลายคำเพื่อสร้างสรรค์การเรียนรู้ศิลปศึกษา (The Visual Art Design for Career Development in the Community)   โดย พระครูสิริบรมธาตุพิทักษ์ (อาทิตย์ รสหวาน),ผศ.ดร. และ ศิริพร คะเณย์     การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ ๑)  เพื่อศึกษาการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ด้านศิลปศึกษาและการแกะลายคำ ๒) เพื่อจัดกิจกรรมแกะลายคำในการเรียนรู้ด้านศิลปศึกษาแก่เยาวชน และประชาชน และ ๓) เพื่อสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ด้านศิลปศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ในพื้นที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) การสนทนากลุ่ม (focus group) และการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ด้านศิลปศึกษาการแกะลายคำ กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Information) ได้แก่ พระสงฆ์ ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชน ผู้นำชุมชน ผู้อาวุโส ศิลปิน และกลุ่มชาวบ้าน ในชุมชนวัดท่าข้าม (ชัยชนะ) ตำบลหางดง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เทคนิคการทำลายคำล้านนา มักจะนิยมทำลวดลายปิดทองบนพื้นสีดำจากยางรักและพื้นสีแดงจากชาด ในอดีตมี 4 วิธีการ คือ เทคนิคแม่พิมพ์ลายฉลุ (stencil) เทคนิคขูดลาย เทคนิคผสมระหว่างปิดทองล่องชาด และเทคนิคขูดลาย และเทคนิคลายรดน้ำ ส่วนเทคนิคการสร้างสรรค์ลายคำล้านนาร่วมสมัย นิยมใช้สีทองคำเปลว (acrylic) นำไปใช้ในการสร้างสรรค์งานลายคำ ส่วนวัสดุที่นำมาสร้างแม่พิมพ์เป็นแผ่นพลาสติกใส   ผลจากการปรับเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ทำให้งานลายคำล้านนาเกิดความนิยมมากยิ่งขึ้น ใช้เวลาในการสร้างสรรค์น้อยลงและยังสามารถพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์อีกหลากหลายด้าน การจัดกิจกรรมแกะลายคำในการเรียนรู้ด้านศิลปศึกษาแก่เยาวชน และประชาชน ประกอบด้วย อุปกรณ์และขั้นตอนการสร้างสรรค์งานลายคำล้านนา กิจกรรมแกะลายคำในการเรียนรู้ด้านศิลปศึกษา และกิจกรรมแกะลายคำในการเรียนรู้เพื่อการบริการวิชาการแก่สังคมและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ด้านศิลปศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย การพัฒนาเครือข่ายด้านศิลปศึกษาภายในสถานศึกษา การพัฒนาเครือข่ายด้านศิลปศึกษาภายนอกสถานศึกษา การพัฒนาเครือข่ายด้านศิลปศึกษาสู่เยาวชน และการพัฒนาเครือข่ายด้านศิลปศึกษาสู่ชุมชน

ข่าวงานวิจัย