การพัฒนาโมบายแอปพลิเคชัน (Mobile Application) “วัดในบ้าน” เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตของผู้สูงอายุตามหลักไตรสิกขา

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 20 มิถุนายน 2562

ประเภทงานวิจัย จำนวนผู้เข้าชม 6 คน 

พระครูปลัดณัฐพล จนฺทิโก, ดร.  อาจารย์ประจำสาขาวิชาพระพุทธศาสนา คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ และคณะ  ได้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนานวัตกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตของผู้สูงอายุตามหลักไตรสิกขา” ทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ ได้ทำการพัฒนาโมบายแอปพลิเคชัน จากการวิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้งานระบบสารสนเทศ ตามหลักวิศวกรรมความรู้เพื่อการออกแบบระบบโดยวิเคราะห์จากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยใช้เครื่องมือทางวิศวกรรมความรู้ที่เรียกว่า CommonKADS ได้ผลงานเป็นแบบจำลองกิจกรรมไตรสิกขาจากกลุ่มผู้เกี่ยวข้องในมุมมองต่างๆ เพื่อพัฒนาโมบายแอปพลิเคชัน ในชื่อว่า “วัดในบ้าน”สถาปัตยกรรมในการพัฒนาระบบโมบายแอปพลิเคชันแบบข้ามแพลตฟอร์ม ซึ่งสถาปัตยกรรมได้แสดงถึงกรอบเครื่องมือด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่งานวิจัยเลือกใช้ อันจะนำให้แอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นสามารถทำงานได้ทั้งบนระบบปฏิบัติการ Android และ iOS ได้ในการพัฒนาครั้งเดียว การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองโดยใช้งานโมบายแอปพลิเคชัน แบ่งกลุ่มผู้ให้ข้อมูลเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ให้ข้อมูลความต้องการระบบ จำนวน 19 คน กลุ่มตัวอย่างทดสอบนวัตกรรม จำนวน 30 คน มีเนื้อหาในการถ่ายทอดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และการปฏิบัติตนตามหลักพระพุทธศาสนา สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุตามหลักไตรสิกขา เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตแก่ผู้ใช้งาน โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เทคโนโลยีสมาร์ตโฟนนี้ถูกเลือกใช้เพื่อให้เป็นช่องทางการนำหลักธรรมและข่าวสารจากวัด สู่ชุมชน ทำให้ผู้สูงอายุในชุมชนสามารถรับรู้ข่าวสาร เกิดการเรียนรู้ และสามารถมีส่วนร่วมต่อกิจกรรมต่างๆ ของวัดได้มากยิ่งขึ้น จากผลการศึกษา พบว่า ที่ช่วยให้สามารถปฏิบัติตนตามหลักไตรสิกขาได้เองที่บ้าน ด้วยวิธีการติดตั้งแอปพลิเคชัน “วัดในบ้าน” เข้าสู่เมนูหลักเพื่อเลือกการปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา เช่น หน้าหลักของศีล อาราธนาศีล เลือกรับศีล 5 ศีล 8 หน้าหลักสมาธิ เลือกการฟังเทศน์ ฟังธรรม หรือสวดมนต์ หน้าหลักปัญญา เลือกเมนูการปฏิบัติเกี่ยวกับกรรมฐาน เช่น การปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน 4 มีการกราบสติปัฏฐาน การเดินจงกรม การทำนั่งสมาธิ เป็นต้น ที่ปรากฏอยู่ในแอปพลิเคชันอย่างหลายหลายตามความต้องการ โดยรวมแล้ว ผลการศึกษาโมบายแอปพลิเคชัน “วัดในบ้าน” ด้านประโยชน์ต่อสุขภาพจิตผู้สูงอายุแสดงเป็นค่าเฉลี่ยคะแนนแบบประเมิน Thai GHQ-28 ก่อนการใช้งานแอปพลิเคชันอยู่ที่ 1.20 คะแนน ผู้สูงอายุที่เป็นผู้ตอบแบบสอบถามมีระดับสุขภาพจิตปกติทั้งหมด และหลังการใช้งานแอปพลิเคชันมีคะแนนค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.44 ของผู้สูงอายุผู้ตอบแบบสอบถามมีระดับสุขภาพจิตปกติทั้งหมดเช่นกัน อีกทั้งแอปพลิเคชันนี้ยังเป็นประโยชน์กับผู้สูงอายุกลุ่มอื่นๆ ผู้สูงอายุติดบ้าน หรือเป็นผู้ป่วยติดเตียง ให้เข้ามาสนใจธรรมะในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และเข้าถึงหลักธรรมในแอปพลิเคชันเสมือนได้เข้ามาวัดแล้วได้รับศีล สวดมนต์ ฟังเทศน์ ฟังธรรม เจริญกรรมฐานได้เองเหมือนกับยกวัดเข้าสู่แอปพลิเคชัน “วัดในบ้าน” และยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือคัดกรองภาวะสุขภาพจิตผิดปกติได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุได้ทราบถึงภาวะสุขภาพของตนเองได้ดีขึ้น การนำนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีไปใช้เพื่อให้วัดและชุมชมสามารถดำเนินกิจกรรมร่วมกัน สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดกับเครือข่ายวัด ชุมชน กลุ่มผู้สูงอายุโดยการพัฒนาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุตามหลัก ศีล สมาธิ และปัญญา ในพื้นที่อื่นหรือพื้นที่ชุมชนใกล้เคียงต่อไป นอกจากนี้สถาปัตยกรรมดังกล่าว ถูกนำไปถ่ายทอดแก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี ในงานประชุมวิชาระดับนานาชาติ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถนำไปให้เป็นตัวอย่างในการเรียนการสอนการพัฒนาโมบายแอปพลิเคชันสมัยใหม่ได้อีกด้วย



 

ดาวน์โหลด คู่มือการใช้แอปพลิเคชัน “วัดในบ้าน” ที่นี่

 

รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สามารถสืบค้นและดาวน์โหลด ที่นี่

 

 

 

 

 

 

Administrator / ข่าว

Administrator / ภาพ

ข่าวงานวิจัย